วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การลงนามสัญญากรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียว

         มาตรา 66 วรรคสอง พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาคัฐ พ.ศ.2560 "การลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะกระทำได้ต่อเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์และไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ตามมาตรา 117 หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับแจ้งจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ทำการจัดซื้อจัดจ้างต่อไปได้ เว้นแต่การจัดซื้อจัดจ้างที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 56 (1) (ค) หรือการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง หรือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงตามมาตรา 96 วรรคสอง"
           นอกจากนี้แล้ว คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0405.2/ว453 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 ได้พิจารณายกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ข้อ 161 วรรคสอง การลงนามในสัญญาตามวรรคหนึ่ง จะกระทำได้เมื่อพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ตามมาตรา 66 วรรคสอง ในกรณีที่การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ยื่นข้อเสนอและผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียวและเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ สามารถลงนามสัญญาได้โดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้นระยะเวลาการอุทธรณ์ 


               [มาตรา 117 ให้ผู้มีสิทธิอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานของรัฐนั้นภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง]

ที่มา :  หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 
            ด่วนที่สุด ที่ กค 0405.2/ว453 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

มาตรา 128 ตาม พรบ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ.2560 บทเฉพาะกาล

        คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0405.2/ว 452 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 กำหนดแนวทางการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 128 ไว้ดังนี้
        1. ให้ใช้บังคับเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุที่หน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการก่อนวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ซึ่งการตรวจรับและจ่ายเงินยังไม่แล้วเสร็จเท่านั้น 
            หากหนว่ยงานของรัฐมีปัญหาข้อหาหรือหรือจำเป็นต้องขออนุมัติยกเว้นผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549  หรือระเบียบ/ข้อบังคับ/ประกาศ/ข้อบัญญัติ ของหน่วยงานของรัฐอื่น การวินิจฉัยตีความ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อบัญญัติ หรือข้อกำหนดของหน่วยงานงานของรัฐนั้น 
       2. กรณีที่มีการตรวจรับและจ่ายเงินก่อนวันที่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ ถือว่าสิ้นสุดการได้รับยกเว้นตามมาตรา 128 การบริหารพัสดุหลังจากนั้นต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติ
           หากมีปัญหาข้อหารือ หรือจำเป็นต้องขออนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผัน เป็นอำนาจของคณะกรรมการวินิจฉัย

ที่มา :  หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 
           ด่วนที่สุด ที่ กค 0405.2/ว 452 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560