วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2558

มาตรการควบคุมการจัดทำโครงการที่มีการจัดจ้างเอกชนผู้รับจัดงาน (Organizer)

      กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศมาตรการควบคุมการจัดทำโครงการที่มีการจัดจ้าง
ให้เอกชนผู้รับจัดงาน (Organizer) งานโฆษณา และประชาสัมพันธ์  ไว้ดังนี้
      1. จะต้องเป็นไปตามความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการศึกษา
มีความคุ้มค่า และประหยัดงบประมาณ
      2. กรณีใช้งบประมาณตั้งแต่ 1,000,000 บาท ขึ้นไป หรือมีกลุ่มเป้าหมาย จำนวน
ตั้งแต่ 100 คน ขึ้นไป ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ก่อนการจัดงาน
      3. ให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้กำกับการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี และมาตรการ
ที่กำหนด
     สำหรับการจ้างจัดงาน ที่มีวงเงินการจัดจ้างตั้งแต่ 5,000,000 บาท ขึ้นไป ให้รายงาน
ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐทราบก่อนดำเนินการ
จัดจ้าง และให้คณะกรรมการฯ รวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี

ที่มา :  ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558

การยกเว้นการเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน ของ TOT และ CAT

      คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.)  ได้อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 15 ตรี
การตรวจสอบผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน กรณีการมีความสัมพันธ์เชิงทุนของบริษัท
ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อเป็น
การเปิดกว้าง และเปิดโอกาสให้มีผู้เข้าแข่งขันมากรายขึ้น อันเป็นประโยชน์ของ
ผู้ประกอบการ เนื่องจาก อำนาจในการบริหารจัดการของ บริษัท ทีโอที จำกัด
(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กระทำในรูปของ
คณะกรรมการ ซึ่งแยกออกจากกันโดยชัดเจน ตลอดจนบริษัททั้งสองไม่ใช่บริษัท
ในเครือเดียวกัน  เพียงแต่ มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยี-
สารสนเทศและการสื่อสาร และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100%

ที่มา :  หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว479
            ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2558

หมวดรายจ่าย กรณีถมดินเพื่อปรับพื้นที่

    สำนักงบประมาณได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการจ้างเหมาถมดิน
เพื่อปรับพื้นที่ไม่ให้น้ำท่วม วงเงิน 100,000 บาท ว่า เป็นรายจ่าย
ในงบลงทุน เนื่องจาก เป็นการปรับปรุงที่ดินที่มีผลทำให้มูลค่าที่ดิน
เพิ่มขึ้น


วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

การเบิกจ่ายค่าจัดทำ Website และ Webpage

           กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.4/ว96 ลงวันที่ 16 กันยายน 2553 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเว็บไซต์ และส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเว็บไซต์.... เป็นค่าใช้สอยตามข้อ 12 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของส่วนราชการ พ.ศ.2553 ให้หัวหน้าส่วนราชการเบิกจ่ายตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และเพื่อประโยชน์ของทางราชการ  ซึ่งจากเดิม หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0526.7/ว139  ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544  ซึ่งจากเดิม กระทรวงการคลังกำหนดว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดทำ website และ Webpage รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีราคาต่อหน่วยต่อชุดรวมกันเกิน 20,000 ให้ขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ
    (ขอขอบคุณ Rungnapa T ที่ได้ให้ความกรุณาให้ข้อมูลค่ะ)

วันอังคารที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

การซ่อมแซมอาคาร ก็ต้องมีการกำหนดค่า K

         สำนักงบประมาณได้ตอบกระทู้ในกระดานถามตอบของสำนักงบประมาณว่า
งานซ่อมแซมอาคารและสิ่งก่อสร้าง ซึ่ีงเบิกจ่ายในงบลงทุน ลักษณะค่าที่ดิน
และสิ่งก่อสร้าง และมีองค์ประกอบการใช้วัสดุกก่อสร้าง สอดคล้องกับสูตรที่กำหนดไว้
ตามประเภทและลักษณะงานอาคาร ซึ่งประกอบด้วย ซีเมนต์ เหล็ก และวัสดุก่อสร้าง
(ไม่รวมเหล็กและซีเมนต์)  ต้องนำสัญญาแบบปรับราคาได้มาใช้ 


เหตุสุดวิสัย จากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมือง

         คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว168ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558  เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบจาก
การชุมนุมทางการเมืองช่วงเพือนพฤศจิกายน 2556 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ให้ถือว่า
เป็นเหตุสุดวิสัย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไข
เพิ่มเติม ข้อ 139 (2) ให้อยู่ในอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการที่จะพิจารณาได้ตาม
จำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง แต่ต้องเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ปฏิบัติตามสัญญาหรือ
ข้อตกลงที่ให้กับทางราชการเป็นอย่างปกติตลอดมา และต้องไม่มีพฤติการณ์ที่
จะทิ้งงานของทางราชการ
       ที่มา :  หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว168
                  ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2558

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

e-market และ e-bidding

      คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติ
ในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e-market)
และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e-bidding) โดย
      "ระบบตลาดอิเล็กทรอนิกส์" (Electronic Market : e-market) ได้แก่ การจัดหา
พัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ด้วยวิธีการซื้อหรือจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่ไม่ซับซ้อน เป็นสินค้าหรือบริการ
ทั่วไป มีมาตรฐาน ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการจัดซื้อสินค้าหรืองานจ้างที่กำหนดไว้
ในระบบ e-catalog โดยให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง เสนอราคาผ่านทางระบบ
จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Government Procurement :e-GP)
ของกรมบัญชีกลาง
        "ระบบประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์" (Electronic Bidding : e-bidding)  ได้แก่
การจัดหาพัสดุตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไข
เพิ่มเติมด้วยวิธีการซื้อหรือจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่ซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ
หรือเป็นสินค้า หรือบริการที่ไม่ได้กำหนดไว้ในระบบ e-catalog โดยให้ผู้ขาย ผู้ให้บริการ
หรือผู้รับจ้าง เสนอราคาผ่านทางระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic
Government Procurement :e-GP) ของกรมบัญชีกลาง

        พัสดุที่ต้องดำเนินการจัดหาด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
        1. วัสดุสำนักงาน ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสารหรือพิมพ์งานทั่วไป, ผงหมึก/ตลับผงหมึก
(Toner), แฟ้มเอกสาร, เทปปิดสำหรับการเข้าเล่ม และซองเอกสาร
         2. ยารักษาโรค ได้แก่ Doxazosin ยารักษาภาวะต่อมลูกหมากโต  และ Calcium
carbonate ยาป้องกันและรักษาภาวะขาดแคลเซียม
         
        ส่วนราชการนำร่อง
       1. ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง เฉพาะราชการส่วนกลาง ได้แก่
           1.1  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
           1.2  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
           1.3  กรมธนารักษ์
           1.4  กรมศุลกากร
           1.5  กรมสรรพสามิต
           1.6  กรมสรรพากร
           1.7  กรมบัญชีกลาง
           1.8  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
           1.9  สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
       2. ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
           2.1  โรงพยาบาลเลิศสิน
           2.2  โรงพยาบาลทรวงอก
           2.3  โรงพยาบาลราชวิถี

ที่มา : หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว63
           ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558



วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

การใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศหรือกิจการของคนไทย ตามระเบียบฯ พ.ศ.2535

    คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุได้ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศ
หรือกิจการของคนไทย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่
แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16 (1) (2) และ (6) วรรคแรก (หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 11
ลงวันที่ 14 มกราคม 2558)  โดยเน้นย้ำว่า กรณีเมื่ออุปกรณ์ชนิดใดที่ประกาศกำหนดมาตรฐาน
ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแล้ว โดยมีผู้ได้รับอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์
อุตสาหกรรมประเภท ชนิด หรือขนาดเดียวกัน สามรายขึ้นไป ส่วนราชการจะต้องกำหนด
รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะระบุความต้องการเฉพาะอุปกรณ์ที่ทำในประเทศ ซึ่งแสดง
เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เท่านั้น