วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

การจ้างเอกชนเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างของส่วนราชการ

     คณะรัฐมนตรีได้มีมติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การออกแบบและหรือควบคุมงานก่อสร้าง
ของส่วนราชการไว้เมื่อปี พ.ศ.2536 ตามหนังสือที่ นร 0205/ว 44 ลงวันที่ 22 มีนาคม
2536  ดังนี้
     1.  การออกแบบก่อสร้างอาคาร
          1.1  เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประกาศใช้แล้ว ให้ส่วนราชการที่ยังไม่ได้
ดำเนินการออกแบบก่อสร้าง รีบดำเนินการออกแบบ หากส่วนราชการนั้นไม่มีหน่วยงาน
ออกแบบก่อสร้าง หรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการออกแบบก่อสร้างได้ ให้มีหนังสือ
ขอความร่วมมือกรมโยธาธิการ กรมศิลปากร และส่วนราชการอื่นที่มีหน่วยงานออกแบบ
ก่อสร้าง อย่างน้อยอีกหนึ่งแห่ง อย่างช้าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี
มีผลใช้บังคับ โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชนิด ประเภท ขนาด วงเงินค่าก่อสร้าง
โดยประมาณ และระยะเวลาของการออกแบบให้เหมาะสมกับลักษณะของงานก่อสร้าง
ตามหลักเกณฑ์ที่กรมโยธาธิการกำหนด
           1.2  ให้ส่วนราชการที่ได้รับการติดต่อแจ้งตอบเป็นหนังสือภายใน 15 วัน 
นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ว่าจะรับออกแบบหรือไม่
           1.3  เมื่อส่วนราชการเจ้าของงบประมาณได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากส่วนราชการ
ที่ได้รับการร้องขอให้ออกแบบก่อสร้างว่าสามารถออกแบบได้แล้ว ให้แจ้งตอบภายใน
7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
           1.4  กรณีที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการที่ขอความร่วมมือว่าไม่สามารถดำเนินการ
ให้ได้ หรือไม่ได้แจ้งเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลาตามข้อ 1.2 ให้ทวงถามทันที
และเมื่อพ้นกำหนดเวลา 15 วัน นับจากวันที่ทวงถาม และยังไม่ได้รับคำตอบ 
ให้ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณจ้างเอกชนออกแบบก่อสร้าง โดยขอทำความตกลง
ด้านการเงินกับสำนักงบประมาณต่อไป
                  ในการจ้างเอกชนออกแบบก่อสร้างอาคาร ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ
อาจจะขอความร่วมมือให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างแทนก็ได้
     2.  กาควบคุมงานก่อสร้างอาคาร
          2.1  ส่วนราชการที่ไม่สามารถดำเนินการควบคุมงานก่อสร้างได้เอง และเป็นกรณีที่
ได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการ กรมศิลปากร หรือส่วนราชการอื่นดำเนินการออกแบบ
ก่อสร้างให้ เมื่อมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบที่จะดำเนินการจ้างก่อสร้างตามระเบียบ
สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุแล้ว ให้มีหนังสือขอความร่วมมือส่วนราชการที่
ดำเนินการออกแบบ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมงานก่อสร้างอาคาร
           2.2  ให้ส่วนราชการที่ได้รับการติดต่อแจ้งตอบเป็นหนังสือภายใน 15 วัน 
นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง 
           2.3  ถ้าส่วนราชการแจ้งตอบว่าสามารถดำเนินการให้ได้ ก็ให้ส่วนราชการ
เจ้าของเรื่องทำหนังสือแจ้งตอบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
           2.4 กรณีที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการที่ขอความร่วมมือว่าไม่สามารถดำเนินการให้ได้
หรือไม่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลาตามข้อ 2.2 หรือเป็นกรณีที่ได้จ้างเอกชน
ออกแบบก่อสร้าง ให้ส่วนราชการจ้างเอกชนเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โดยขอทำความตกลง
ด้านการเงินกับสำนักงบประมาณต่อไป
                  ในการจ้างเอกชนควบคุมงานก่อสร้าง ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ
อาจจะขอความร่วมมือให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างแทนก็ได้
            2.5 นอกจากกรณีตามข้อ 2.1 หากส่วนราชการมีความประสงค์จะขอความร่วมมือ
กรมโยธาธิการ กรมศิลปากร หรือส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมงานก่อสร้าง
อาคาร ก็ให้กระทำได้

     และเนื่องจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเห็นว่าในปัจจุบันหลายหน่วยงาน
มิได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ)
0421.3/ว 471 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ซ้อมความเข้าใจมติคณะรัฐมนตรี ดังนี้
     1. การออกแบบก่อสร้าง ตามหลักเกณฑ์ข้อ 1.4 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับการออกแบบ
ก่อสร้างอาคารว่า กรณีที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการที่ขอความร่วมมือ (กรมโยธาธิการ
และผังเมือง  กรมศิลปากร  และส่วนราชการอื่นที่มีหน่วยงานออกแบบก่อสร้างอย่างน้อย
อีกหนึ่งแห่ง) ว่าไม่สามารถดำเนินการออกแบบก่อสร้างให้ได้ หรือไม่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ
ภายในเวลา 15 วัน ให้ทวงถามทันที และเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับจากวันที่ทวงถาม
และยังไม่ได้รับคำตอบ ให้ส่วนราชการเจ้าของงบประมาณจ้างเอกชนออกแบบก่อสร้าง
อาคาร โดยดำเนินการตามระเบียบการบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้องต่อไป
     2. การควบคุมงานก่อสร้างอาคาร ตามหลักเกณฑ์ข้อ 2.4 ซึ่งกำหนดเกี่ยวกับ
การควบคุมงานก่อสร้างว่า กรณีที่ได้รับแจ้งจากส่วนราชการที่ขอความร่วมมือ
(กรมโยธาธิการและผังเมือง  กรมศิลปากร  และส่วนราชการอื่นที่มีหน่วยงานออกแบบ
ก่อสร้างอย่างน้อยอีกหนึ่งแห่ง) ว่าไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมงานก่อสร้างให้ได้
หรือไม่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือภายในเวลา 15 วัน หรือเป็นกรณีที่ได้จ้างเอกชนออกแบบ
ก่อสร้าง ให้ส่วนราชการจ้างเอกชนเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง โดยดำเนินการตามระเบียบ
การบริหารงบประมาณที่เกี่ยวข้องต่อไป

ที่มา : หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 471
          ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนคณะกรรมการตามระเบียบพัสดุ

     กระทรวงการคลังได้มีหนังสือเวียนหลักเกณฑ์การเบิกค่าตอบแทนคณะกรรมการ
ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535
คณะกรรมการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ.2549 คณะกรรมการกำหดนราคากลาง และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจจริงความผิด
ทางละเมิดฯ  โดยอนุมัติให้ส่วนราชการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้แก่คณะกรรมการดังกล่าว
โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราค่าตอบแทน ดังนี้
     1. ประธานกรรมการ ไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้งที่มาประชุม และกรรมการไม่เกินคนละ
1,200 บาท ต่อครั้งที่มาประชุม
     2. คณะกรรมการดังกล่าวต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งตามแบบบรรยายลักษณะงาน
กำหนดให้มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัสดุ หรือความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน
ที่ตนสังกัด หรือกรณีที่แบบบรรยายลักษณะงานมิได้กำหนดไว้ชัดเจน แจ้งแต่ได้รับมอบหมาย
ให้ปฏิบัติหน้าที่ประจำเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการปฏิบัติงานปกติประจำที่อยู่ในความ
รับผิดชอบโดยตรงของกรรมการผู้นั้น มิให้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนกรรมการ
     3. หลักฐานการจ่ายค่าตอบแทนกรรมการให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
(แนบท้ายหนังสือเวียน)
     4. ค่าตอบแทนที่นอกเหนือหรือแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์นี้ ให้ขอ
ทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง
     5. หัวหน้าส่วนราชการระดับกรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะ
เป็นกรมขึ้นไป อาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารงบประมาณรายจ่ายเพื่อควบคุม
ค่าตอบแทนกรรมการได้ตามความจำเป็น ประหยัด และเหมาะสมภายใต้หลักเกณฑ์นี้
     ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2556 เป็นต้นไป
   
ที่มา : หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.4/ว 132 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556