วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ประเภทอาคารตามมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ

        ประเภทของงานก่อสร้างที่ถูกกำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะยื่นซองประกวดราคา ต้องจัดทำ
เอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคา เกี่ยวกับ "ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง"
เพื่อป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น  ได้แก่
        1. อาคารขนาดใหญ่ ที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังคาเดียวกัน 
เกิน 2,000 ตารางเมตร หรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 15 เมตร ขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้น
หรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังคาเดียวกันเกิน 1,000 เมตร แต่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร
        2. งานสะพานที่มีความยาวช่วงเกิน 30 เมตร หรืองานสะพานข้ามทางแยก หรือทางยกระดับ
หรือสะพานกลับรถยนต์ หรือทางแยกต่างระดับ
        3.  งานขุด หรือซ่อมแซม หรือรื้อถอนระบบสาธารณูปโภค ที่ลึกเกิน 3 เมตร
        4.  งานอุโมงค์ หรือทางลอด
        5.  งานก่อสร้างที่มีงบประมาณค่าก่อสร้างเกิน 300 ล้านบาท

การยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีประจำปีของรถของส่วนราชการ

        รถที่ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ตามพระราชบัญญัติรถยนต์
(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2527 มาตรา 9  ได้แก่
        (1) รถดับเพลิง
        (2) รถพยาบาล
        (3) รถของส่วนราชการองค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มหาวิทยาลัย และสถาบันอุดมศึกษาของรัฐองค์การมหาชน และหน่วยงานอื่น
ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เฉพาะรถที่มิได้ใช้ในทางการค้า
หรือหากำไร  (แก้ไขตามพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2556)
        (4) รถบดถนนของรัฐวิสาหกิจ
        (5) รถแทรกเตอร์ของรัฐวิสาหกิจ
        (6) รถของสภากาชาดไทย
        (7) รถของบุคคลในคณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ หรือทบวง
การชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ซึ่งประจำอยู่ในประเทศไทย
        (8) รถใช้งานเกษตรกรรมตามลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
        ทั้งนี้ พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2556   ได้กำหนดว่า "บรรดาค่าธรรมเนียม
และภาษีประจำปีของรถของหน่วยงานตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
ที่ค้างชำระไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้เป็นอันระงับไป" อีกด้วย
        การประกาศใช้พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2556 นั้น เนื่องจากปัจจุบันได้มี
การปรับปรุงการบริหารราชการ ทำให้มีหน่วยงานของรัฐรูปแบบต่าง ๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติมจาก
หน่วยงานทางราชการที่มีอยู่เดิม อีกทั้งหน่วยงานของทางราชการเดิมบางหน่วยได้มีการ
ปรับเปลี่ยนฐานะ หรือรูปแบบการดำเนินการใหม่ อันมีผลทำให้หน่วยงานนั้น ๆ มิได้มีฐานะ
เป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยง่านตามที่กฎหมายกำหนดให้ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม
และภาษีประจำปี อย่างไรก็ดี เนื่องจากหน่วยงานที่เกิดขึ้นหรือปรับเปลี่ยนใหม่นั้น ให้มี
ฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ เพื่อให้รถ
ของหน่วยงานดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีประจำปี จึงจำเป็นต้อง
ตราพระราชบัญญัตินี้

อ้างอิง  :  1.  พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 4)  พ.ศ.2527
                2.  พระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2556)