วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลาง

   คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเปิดเผยรายละเอียด
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง
เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ไว้ดังนี้
    1.  ประเภทการจัดซื้อจัดจ้าง
         1.1 งานก่อสร้าง
         1.2 การจ้างควบคุมงาน
         1.3 การจ้างออกแบบ
         1.4 การจ้างที่ปรึกษา
         1.5 การจ้างงานวิจัย หรือเงินสนับสนุนให้ทุนการวิจัย
         1.6 การจ้างพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์
         1.7 การจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง
   2.  เงื่อนไขการประกาศ
        2.1  ให้ประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและคำนวณราคากลาง
               ในการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกินกว่าหนึ่งแสนบาท
        2.2  ให้ประกาศในระบบฐานข้อมูล (เว็บไซต์) 2 แห่ง ดังนี้
               2.2.1  ระบบฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง (ระบบ e-GP)
               2.2.2  เว็บไซต์ของหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง หากไม่มี ให้ประกาศ
                         หน้าเว็บไซต์ของหน่วยงานที่เป็นต้นสังกัด
        2.3  ระยะเวลาที่ประกาศ
               2.3.1  กรณีการจัดหาที่มีการแข่งขันที่ต้องประกาศเชิญชวน
                         - ให้ประกาศตั้งแต่วันที่มีการประกาศขอบเขตดำเนินการ (TOR)
                            หรือประกาศจัดซื้อจัดจ้าง
                         - ให้ประกาศไปจนถึงวันที่ผู้มีอำนาจอนุมัติการสั่งซื้อสั่งจ้าง
                           ได้มีคำสั่งรับคำเสนอซื้อหรือจ้าง  หรือเมื่อพ้น 30 วัน
                            นับแต่วันที่คณะกรรมการพิจารณาผล หรือผู้มีอำนาจหน้าที่
                            พิจารณาผลเสนอความเห็นต่อผู้มีอำนาจอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้าง
                            แล้วแต่ระยะเวลาใดถึงกำหนดก่อน
               2.3.2  กรณีการจัดหาที่ไม่มีประกาศเชิญชวน
                         - ให้ประกาศภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ผู้มีอำนาจได้อนุมัติ
                            รายงานขอซื้อขอจ้าง หรืออนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง
                            หรืออนุมัติให้เงินสนับสนุนทุนการวิจัย
                         - หากไม่สามารถประกาศก่อสร้างการสั่งซื้่อสั่งจ้างได้
                           ให้ประกาศพร้อมกับการจัดซื้อจัดจ้าง
                         - กรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้
                           ให้ประกาศภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง
              การประกาศดังกล่าว ให้ประกาศเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน
        และสำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมฟังการประชุมสัมมนา เชิญ คลิกเพื่อดูวิดีโอค่ะ

     
ที่มา : คู่มือแนวทางการเปิดเผยรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง
          ราคากลาง และการคำนวณราคากลาง
         

การติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้างของทางราชการ

   การติดตั้งแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้างของทางราชการ
จะบังคับใช้ใน 2 กรณี คือ
   1. กรณีงานก่อสร้างสาธารณูปโภคที่ต้องขุดเจาะถนนหรือทางเท้า ซึ่งอยู่ใน
ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร
   2. กรณีงานก่อสร้างทุกประเภทซึ่งมีค่างานตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป (และมิใช่
งานตามกรณีที่ 1)
   โดยงานก่อสร้างตามกรณีที่ 2  ต้องดำเนินการดังนี้
   1. ให้ติดตั้งแผ่นป้ายไว้ ณ บริเวณสถานที่กอ่สร้าง โดยกำหนดเป็นเงื่อนไข
ในสัญญาจ้างให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการจัดทำและติดตั้ง
แผ่นป้าย
   2. แผ่นป้ายต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้าง ดังนี้
       2.1  ชื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ สถานที่ติดต่อ และหมายเลขโทรศัพท์
              พร้อมดวงตราหน่วยงานเจ้าของโครงการ
       2.2  ประเภทและชนิดของสิ่งก่อสร้าง
       2.3  ปริมาณงานก่อสร้าง
       2.4  ชื่อ ที่อยู่ ผู้รับจ้างพร้อมหมายเลขโทรศัพท์
       2.5  ระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดของโครงการ
       2.6  วงเงินค่าก่อสร้าง
       2.7  ชื่อเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการผู้ควบคุมงาน พร้อมหมายเลขโทรศัพท์
       2.8  ชื่อเจ้าหน้าที่ของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาผู้ควบคุมงาน พร้อมหมายเลข
              โทรศัพท์
       2.9  กำลังก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน
   3. ขนาดของแผ่นป้ายแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับงานก่อสร้าง
       3.1  งานก่อสร้างขนาดเล็ก และงานก่อสร้างในพื้นที่ชนบท
              แผ่นป้ายควรมีขนาดไม่เล็กกว่า 1.20 x 2.40 เมตร
       3.2  งานก่อสร้างขนาดใหญ่ และงานก่อสร้างในเขตชุมชนเมือง
              หรืองานก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร  แผ่นป้ายควรมีขนาด
              ไม่เล็กกว่า 2.40 x 4.80 เมตร
   4.  งานก่อสร้างทาง คลอง หรือลำน้ำ ให้ติดตั้งแผ่นป้ายรายละเอียดไว้
        ณ จุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดงานก่อสร้าง อย่างน้อย 2 จุด

ที่มา : หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลาง
          ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 231  ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556

การจ้างทาสีอาคาร เบิกจ่ายจากหมวดไหนดี

     กรณีที่ส่วนราชการจะดำเนินการจ้างทาสีอาคาร และการดำเนินการ
ดังกล่าวนั้นมีวงเงินสูง แต่ไม่ทราบว่าจะต้องเบิกจ่ายเงินจากหมวดไหนดี
ผู้เขียนจึงได้นำคำตอบของสำนักงบประมาณมาให้ชมเพื่อใช้เป็นแนวทาง
ในการปฏิบัติงานค่ะ
     ได้มีผู้ถามไปยังสำนักงบประมาณว่า การจ้างทาสีภายนอกอาคาร
วงเงิน 1,000,000 บาท จะถือว่าเป็นการซ่อมแซม หรือการปรับปรุง
และต้องใช้งบดำเนินงานหรืองบลงทุน
      สำนักงบประมาณได้ตอบว่า เป็นรายจ่ายเพื่อซ่อมแซมอาคาร
ให้คงสภาพเดิม  เบิกจ่ายจากงบดำเนินงาน ลักษณะค่าใช้สอย